แชร์วิธีการทำปุ๋ยหมักเอาไว้ใช้เอง แบบวงตาข่าย ทำง่ายได้ผลดี

ก่อนที่จะไปปลูกพืชเราควรมีการเตรียมการกันก่อน ไม่ว่าจะเป็นวัสดุอุปกรณ์ พืชที่เพาะปลูก รวมไปถึงปุ๋ยต่างๆ วันนี้เราจะมาเอาใจเพื่อนๆ สายเกษตรกันอีกเช่นเคย กับการทำปุ๋ยหมักเอาไว้ใช้เองที่บ้าน บอกเลยว่าทำง่ายมากๆ แถมใช้งบน้อย แต่ได้ประโยชน์เยอะ ซึ่งเป็นการทำปุ๋ยหมัก แบบวงตาข่าย ช่วยให็ปุ๋ยหมักย่อยสลายได้เร็ว ว่าแล้วไปชมวิธีทำกันเลยค่ะ

วัตถุดิบอาหารหลักของพืช มีอะไรบ้าง

แหนแดงสด มี N ไนโตรเจน หมักได้จาก เศษพืชสด ยอดต่อใบของพืช รำละเอียด มูลสัตว์ ช่วยบำรุงใบ กระตุ้นให้พืชเจริญเติบโต ให้พืชงอกงาม แตกกอ สีเขียวสด

ใบกล้วยแห้ง มี P ฟอสฟอรัส หมักได้จาก เศษพืชแห้ง ดอก ลำต้น ฝักของพืช แกลบดิบ กากอ้อย กากมัน เปลือกยูคา ช่วยบำรุงดอก สะสมอาหารเพื่อเปิดตาดอก ให้ติดฝักติดลูก

ขี้เถ้าแกลบ มี K โพแทสเซียม หมักได้จาก เศษพืชแห้งที่เผาไฟแล้ว แกลบเผา/ขี้เถ้าแกลบ ขี้แดดนาเกลือ กากน้ำปลา ช่วยบำรุงผล ให้มีขนาดใหญ่ใหญ่ รสชาติดี ต้านทานต่อโรค และแมลง

เริ่มสร้างวงตาข่ายหมักปุ๋ย

เราจะปักเสาหลักเพื่อยึดวงตาข่ายให้แข็งแรง โดยมีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1 เมตร เพื่อให้อากาศไหลเข้ากองปุ๋ยได้สะดวก หากทำกว้างกว่านี้มากจะทำให้ปุ๋ยส่วนกลางกองหมักจะย่อยสลายได้ไม่ดี เพราะอากาศเข้าไม่ถึง จุลินทรีย์ก็ย่อยสลายไม่ได้ ซึ่งเราจะใช้อุปกรณ์ดังต่อไปนี้

1.เสาหลัก 4-6 ต้น ความยาว 1.5 เมตร (ปรับได้ตามความต้องการ)

2.ตาข่ายหรือผ้ามุ้งไนลอน กว้าง 1 เมตร ยาว 4.5 เมตร

3.สายรัดเคเบิ้ลไทร์ 8-12 ชิ้น

4.ขุดหลุมเพื่อปักเสาหลัก

5.ปักเสาหลัก ระยะห่างโดยประมาณ 1 เมตร

6.ล้อมด้วยตาข่ายหรือผ้ามุ้งไนลอน

7.รัดตาข่ายด้วยเคเบิ้ลไทร์ ทั้งบนและล่าง

ได้วงตาข่ายหมักปุ๋ย พร้อมใช้งาน เมื่ออุปกรณ์พร้อม ก็ลงมือขุดหลุมได้เลย ปักเสาลงไป ตามด้วยตาข่ายหรือผ้ามุ้งไนลอน ล้อมรอบเสาแล้วรัดด้วยเคเบิ้ลไทร์กับเสาแต่ละต้น ทั้งบนและล่าง

วิธีหมักปุ๋ยอินทรีย์ในวงตาข่าย

1.เศษใบไม้ ที่ร่วงหล่นในสวน

2.เศษผัก เศษหญ้า หาเศษพืช เช่น ใบไม้ที่รวงหล่นในสวน หญ้าในแปลงผัก ต้นกล้วยที่ออกเครือแล้ว ผลไม้ที่เน่าเสีย

3.นำเศษพืชใส่ลงในวงตาข่าย

4.โรยทับด้วยมูลสัตว์

ใส่เศษพืชลงในวงตาข่าย ความหนาประมาณ 5 เซนติเมตร โรยทับด้วยมูลสัตว์ ในอัตราส่วน เศษพืช 3 ส่วน ต่อมูลสัตว์ 1 ส่วน (ใช้มูลสัตว์ได้ทุกชนิด) แล้วรดน้ำพอชุ่ม

ใส่เศษพืชแล้วโรยทับด้วยมูลสัตว์ ทำแบบนี้ซ้ำๆ ใส่เศษพืชตามด้วยมูลสัตว์ แล้วรดน้ำพอชุ่มอีกครั้ง ทำซ้ำไปเรื่อยๆจนกว่าจะเต็มวงตาข่าย โดยให้มูลสัตว์อยู่ด้านบนสุดเสมอ

คำแนะนำ

ใช้เศษพืชเหลือใช้ในการหมักได้ทุกชนิด ทั้งสดและแห้ง โดยพืชสดจะใช้เวลาย่อยสลายน้อย ให้ปุ๋ยไนโตรเจนสูง ส่วนพืชแห้งจะใช้เวลาย่อยสลายนานกว่าเล็กน้อย ให้ปุ๋ยฟอสฟอรัสสูง

การดูแลรักษาความชื้น

รดน้ำภายนอกรอบๆวงปุ๋ยหมักวันละ 1 ครั้ง ในทุกๆ 10 วัน ให้รดน้ำภายในวงปุ๋ยหมัก โดยใช้ไม้แหวกรูตรงกลางเพื่อกรอกน้ำลงไป แล้วปิดรูไว้เหมือนเดิม (ดูในวิดีโอด้านล่าง)

การนำปุ๋ยหมักไปใช้

การหมักปุ๋ยในวงตาข่ายแบบนี้จะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 เดือน โดยสังเกตได้จากเศษพืชที่ย่อยสลายเป็นผงหยาบๆและยุบตัวลง ก็สามารถนำไปใช้ได้ในอัตราส่วน ปุ๋ยหมัก 1 กิโลกรัม ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร ใช้โรยรอบๆต้นไม้หรือคลุกกับดินปลูกได้เลย

ข้อควรระวังในการหมักปุ๋ย

1.การกดกองปุ๋ยให้แน่น จะทำให้การย่อยสลายไม่สมบูรณ์ เพราะอากาศไม่สามารถเข้าไปหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ที่ทำหน้าที่ย่อยสลายเศษพืชภายในวงปุ๋ยหมักได้

2.หากปุ๋ยหมักแห้งเกินไป จะทำให้ต้องใช้ระยะเวลาในการย่อยสลายนานขึ้น

3.การใส่เศษพืชหนาเกินไปในแต่ละชั้น จะทำให้จุลินทรีย์จากมูลสัตว์ไม่สามารถเข้าไปย่อยสลายเศษพืชได้ทั้งหมด

ประโยชน์ของการใช้ปุ๋ยหมัก

1.ดินร่วนดี มีจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์

2.ทำให้ดินร่วนทรุย ง่ายต่อการเจริญเติบโตของพืช

3.ไม่ทำให้ดินเสีย ในขณะที่ปุ๋ยเคมี จะทำให้ดินเป็นกรด ส่งผลให้พืชเป็นโรคได้ง่าย

4.เป็นอาหารให้กับจุลินทรีย์และสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในดิน ซึ่งจะช่วยเหลือเกื้อกูลกับพืชตามวิถีธรรมชาติ

5.ให้สารอาหารกับพืชได้ครบ 16 ชนิด ทั้งสารอาหารหลัก อาหารรอง และอาหารเสริม ในขณะที่ปุ๋ยเคมีส่วนใหญ่ ให้เพียงสารอาหารหลักแค่ 3 ชนิดเท่านั้น

6.ช่วยให้พืชเติบโตเร็ว แข็งแรง และต้านทานโรคแมลงได้ดี

ขอขอบคุณที่มาจาก : ครูพี่นุ (ภานุพงศ์ สะและหมัด) ปราชญ์ชุมชนด้านเศรษฐกิจพอเพียง จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของสวน COCONUT Thailand