ข่าวดี สปสช. เพิ่มสิทธิประโยชน์ใหม่ให้ “บัตรทอง” อีก 6 รายการ

ข่าวดีสำหรับผู้ที่ใช้สิทธิ บัตรทอง ล่าสุดประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) พิจารณามีมติเห็นชอบ ตามที่คณะอนุกรรมการกำหนดประเภทและขอบเขตในการให้บริการสาธารณสุข

โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธาน เพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง) อีก 6 รายการ ประกอบด้วย

1.การผ่าตัดปลูกถ่ายตับในผู้ป่วยโรคตับแข็งระยะกลางและระยะท้าย โดยระบบบริการในประเทศไทยมีศักยภาพในการปลูกถ่ายได้ปีละ 100 ราย

ขณะที่การคาดการณ์ความต้องการของผู้ป่วยอยู่ที่ปีละ 50 ราย แต่เบื้องต้นบอร์ด สปสช. ตั้งเป้านำร่องให้บริการปีละ 25 รายก่อน คิดเป็นงบประมาณ 17.5 ล้านบาท

2.การตรวจยีน HLA-B* 5801 ก่อนให้ยา Allopurinol ในผู้ป่วยโรคเกาต์รายใหม่ โดยประเทศไทยมีผู้เป็นเกาต์รายใหม่ปีละ 8,200 ราย คาดว่าจะใช้งบประมาณสำหรับตรวจทางห้องปฏิบัติการปีละ 8.2 ล้านบาท

3.รายการอุปกรณ์ Extracorporeal Membrane Oxygenator (ECMO) ในการรักษาภาวะหัวใจ และ/หรือ ปอดล้มเหลวเฉียบพลัน โดยประมาณการณ์จำนวนผู้รับบริการตั้งต้นปีที่ 1 จำนวน 300 ราย ขณะที่คาดว่าค่าใช้จ่ายในปีแรกอยู่ที่จำนวน 26 ล้านบาท

4.การคัดกรองและวินิจฉัยวัณโรคด้วยการตรวจเอกซเรย์ปอดในทุกกลุ่มเสี่ยง และการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้วยวิธี Molecular assay ได้แก่ Real-time PCR (Xpert MTB/RIF), Real-time PCR MTB/MDR, TB-LAMP, LPA

โดยกลุ่มเสี่ยงวัณโรค ได้แก่ ผู้สัมผัสวัณโรค ผู้ต้องขัง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และผู้สูงอายุ จำนวน 1.098 ล้านราย คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น 725 ล้านบาท

5.การตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดกลุ่มเสี่ยง โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมายไว้ที่ 30,434 คน ประมาณการณ์ค่าใช้จ่ายไว้ 12.33 ล้านบาท

6.รายการอุปกรณ์ประสาทหูเทียมชนิด Rechargeable สำหรับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 dB ขึ้นไป และไม่เคยฝึกภาษามือ โดยคาดว่ามีกลุ่มเป้าหมายราว 33 คน ขณะนี้ สปสช.อยู่ระหว่างต่อรองราคาค่าประสาทหูเทียมให้ต่ำกว่าชุดละ 6 แสนบาท

นอกจากสิทธิประโยชน์ 6 รายการแล้ว บอร์ด สปสช. ได้เห็นชอบหลักการกรณีใช้น้ำมันกัญชาในผู้ป่วย 4 กลุ่ม ได้แก่ โรคมะเร็ง พาร์กินสัน และไมเกรน และสารสกัดกัญชาในผู้ป่วยโรคลมชัก และมะเร็งระยะท้าย วงเงิน 58.3 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้าสู่คณะกรรมการพัฒนายาหลักแห่งชาติต่อไป

แหล่งที่มา : ให้ความรู้.com

เรียบเรียงโดย : item2day.com

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.